วัดไทยพุทธคยา935
สักครังหนึ่งในชีวิตของชาวพุทธ
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ประวัติ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ทั้ง ๔ ต้น
ที่พุทธคยา แดนตรัสรู้ 
โดย พระครูปริยัติโพธิวิเทศ
(
พระมหา ดร.คมสรณ์ คุตตธัมโม)
เจ้าอาวาสวัดไทยเชตวันมหาวิหาร
เมืองสาวัตถี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

           “พุทธ คยาเป็นสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมี ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้แห่งการตรัสรู้ ณ ที่แห่งนี้รวมทั้งหมดมี ๔ ต้น และทั้ง ๔ ต้นนี้ได้เจริญเติบโตทดแทนกันมาเรื่อยๆ จากที่เดิมและมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน นับเป็นอนุสรณ์สถานที่มีคุณค่าของชาวพุทธและมวลมนุษยชาติทั่วโลก ปัจจุบันพุทธคยาได้ถูกยกให้เป็น มรดกโลก ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕

(๑) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๑

            เป็นต้นไม้คู่พระบารมีและเป็นสหชาติของพระโพธิสัตว์ เกิดขึ้นพร้อมกับวันที่พระโพธิสัตว์ประสูติ ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า สหชาติมี ๗ ประการ (สัตตสหชาติ) คือ พระนางพิมพา, พระอานนท์พุทธอนุชา, นายฉันนะ, อำมาตย์กาฬุทายี, ม้ากัณฐกะ, ขุมทรัพย์ ๔ มุมเมือง และต้นอัสสัตถพฤกษ์หรือต้นโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๑ เป็นต้นที่พระพุทธเจ้าทรงประทับตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ได้รับการถวายหญ้ากุสะจำนวน ๘ กำจากโสตถิยะพราหมณ์ เพื่อปูเป็นที่ประทับเมื่อใกล้รุ่งของวันเพ็ญ เดือน ๖ จึงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ตรัสว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้แทนพระพุทธองค์ หากใครได้ไหว้ได้สักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็เท่ากับว่าได้ไหว้สักการะพระ พุทธองค์ และหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มีผู้เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นจำนวนมาก

ในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก เช่น ทรงสร้างพระเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชาจำนวนถึง ๘๔๐๐๐ องค์ ซึ่งทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชไม่สนพระทัยในความสุขส่วนพระองค์เหมือนเช่นเคย ว่างเว้นจากราชกิจก็มาปฏิบัติธรรมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ไม่กลับวังที่ประทับ จึงเป็นเหตุให้เหล่าพระมเหสีนางสนมทั้งหลายต่างพากันโกรธแค้นอิจฉาต้นพระศรี มหาโพธิ์ พระมเหสีองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าอโศกมหาราช นามว่า มหิสุนทรี (พระนางติษยรักษิต) ได้รับสั่งให้นางข้าหลวงนำยาพิษและน้ำร้อนแอบไปรดที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ จนทำให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ตายไปในที่สุด นับเป็นการล้มตายลงไปหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าสู่ ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ๒๐๐ ปี

การล้มตายของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก ได้ทรงมีรับสั่งให้มหาดเล็กเอาน้ำนมโค ๑๐๐ หม้อไปรดที่บริเวณรากของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ล้มตายลงไปนั้นทุกวัน และทรงอฐิษฐานพร้อมกับการสักการะก้มกราบ พระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่า หากแม้ว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ไม่แตกหน่อขึ้นมาแล้วไซ้ร์จะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด ด้วยพุทธานุภาพและพระราชศรัทธาอันแรงกล้าแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นที่อัศจรรย์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ภายหลังก็แตกหน่องอกขึ้นมาใหม่ จึงได้นับหน่อนี้เป็นต้นที่ ๒ และมีอายุยืนต่อมาอีกหลายร้อยปี พระเจ้าอโศกมหาราชทรงดีพระทัยเป็นอันมาก จึงทรงมีรับสั่งให้ก่อกำแพงล้อมรอบไว้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับ ต้นพระศรีมหาโพธิ์อีก

(๒) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๒
           ถือ เป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นแรก การที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก จึงมีการนำต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกในประเทศต่างๆ ด้วย เช่น พระโสณะเถระและพระอุตตรเถระ เดินทางไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ และ พระมหินทเถระ พระนางสังฆมิตตาเถรี เดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เป็นต้น โดยพระภิกษุและพระภิกษุณีเหล่านี้ได้นำต้นหรือกิ่งของต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปด้วย

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๒ ถูกทำลายจนล้มตายอีกครั้งในสมัย พระเจ้าปรณวรมา แคว้นมคธของพระองค์ได้ถูกรุกรานโดย พระเจ้าสาสังการ แห่งฮินดู จากแคว้นเบงกอล พระเจ้าสาสังการได้ทรงรับสั่งให้ตัดต้นและขุดราก ใช้ฟางอ้อยสุม ใช้น้ำมันราด และเผาต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งมีอายุราว ๘๗๑-๘๙๑ ปี จนล้มตาย เจ็ดวันหลังจากนั้น พระเจ้าสาสังการทรงอาเจียนเป็นพระโลหิต และสิ้นชีพตักษัยที่พุทธคยา ซึ่งพระเจ้าปรณวรมาเสด็จมาพอดี จึงตีทัพของเบงกอลแตกพ่ายไป และทรงให้ชาวบ้านรีดนมโค ๑,๐๐๐ ตัว เอาน้ำนมที่ได้เทราดบริเวณต้นโพธิ์ที่ถูกเผา พระเจ้าปรณวรมาทรงนอนคว่ำหน้าลงกับพื้น พร้อมอฐิษฐานตามแบบพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งภายหลังต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็แตกหน่องอกขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง จึงได้นับหน่อนี้เป็นต้นที่ ๓

(๓) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๓

         ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ นายพลโทเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม (Sir Alexander Cunningham) ชาวอังกฤษ หัวหน้าคณะสำรวจพุทธสถานในช่วงอังกฤษปกครองประเทศอินเดีย ผู้ค้นพบสถานที่ตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เดินทางไปที่เมืองพุทธคยาเป็นครั้งที่สอง พบว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรุดโทรมมาก ประชาชนชาวฮินดูในบริเวณนั้นได้ตัดกิ่งก้านไปทำเชื้อเพลิง ครั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๒๓ ได้เกิดพายุใหญ่ เป็นเหตุให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เบียดกับพระเจดีย์พุทธคยา กระทั่งหักโค่นล้มลงไปทางทิศตะวันตกและล้มตายไปเอง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๓ มีอายุยืนประมาณ ๑๒๕๘-๑๒๗๘ ปี

(๔) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๔

         เป็นต้นที่ยังคงยืนต้นอยู่ที่พุทธคยาในปัจจุบัน เป็น ๑ ใน ๒ หน่อที่แตกขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๓ ที่ล้มตายไป โดย ท่านเซอร์คันนิ่งแฮม ได้บำรุงดูแลหน่อที่เกิดมานั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๓ และนำอีกหน่อหนึ่งไปปลูกไว้ด้านทิศเหนือของพระเจดีย์พุทธคยา ห่างจากต้นเดิมประมาณ ๕๐ เมตร

ปัจจุบัน ต้นพระศรีมหาโพธิ์ทั้ง ๒ ต้นยังคงยืนต้นอยู่ มีอายุยืนถึงทุกวันนี้กว่า ๑๓๒ ปี ท่านสาธุชนผู้ศรัทธาสามารถเดินทางไปสักการะได้ด้วยตนเอง

 
เหตุไฉน จึงได้ชื่อว่าต้นโพธิ์
โพธิญาณพฤกษา
พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้

 

        ใน พระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ โคตมพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 28 พระนามว่า พระโคตมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรประพฤติทุกรกิริยาอยู่ 6 ปี จึงได้ประทับตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้อัสสัตถะ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
“ต้นอัสสัตถะ” หรือ “ต้นอัสสัตถพฤกษ์” นั้น รู้จักกันดีในชื่อของ ต้นโพ, ต้นโพธิใบ, ต้นโพธิ์ หรือพระศรีมหาโพธิ ชาวลังกาเรียกว่า Bohd tree และชาวอินเดียเรียกว่า Pipal นี้นับได้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธประวัติอีกชนิด หนึ่ง เพราะเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ในระหว่างบำเพ็ญพรตเพื่อหาสัจธรรมนั้น ได้ทรงเลือกนั่งประทับที่โคนต้นโพธิ์จนกระทั่งพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมา สัมโพธิญาน คือ อริยสัจ 4 อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เมื่อวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
แม้พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระ พุทธเจ้าแล้ว ก็ยังต้องทรงใช้พลังจิตรบกับพวกมาร (การเอาชนะกิเลสฝ่ายต่ำ) ก็โดยประทับอยู่ใต้โคนต้นโพธิ์อีกเช่นกัน เพราะโพธิ์มีร่มเงาเหมาะแก่การพักพิงและบำเพ็ญพรตเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันต้นโพธิ์ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ว่าไม่ใช่ต้นเดิมแต่ครั้งพุทธกาล เป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นเดิม

 
ปัจจุบันนี้มีสายการบินไทยบินตรงจากสุวรรณภูมิถึงพุทธคยา โดยใช้เวลาบินเพียง ๓ ชั่วโมง ๑๕ นาทีเท่านั้น ท่านก็ได้สักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้ว































































































































 
ติดต่อแฮนด์84000