วัดไทยพุทธคยา935
สักครังหนึ่งในชีวิตของชาวพุทธ

วันวิสาขบูชาโลก
ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี
แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
งาน วันวิสาขบูชาโลก เกิดขึ้นเนื่องด้วยว่า วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ สั่งสอนชาวโลกด้วยพระธรรมคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงค้นพบ ตั้งแต่แรกจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประวัติที่งดงาม หมดจด ชัดเจนตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน และทรงเป็นบุคคลที่อัศจรรย์คือ ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในวันเดียวกัน คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 หรือ วันวิสาขบูชา ด้วยเหตุนี้เอง องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวัน “วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ” หรือวันสำคัญสากลของโลก

วันวิสาขบูชาโลกเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

     องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 54 ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 International recognition of the Day of Vesak  ระบุว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก ที่ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณของมนุษยชาติมานาน ควรที่จะยกย่องกันทั่วโลก จึงประกาศให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลนานาชาติ (International Day)" โดยการเสนอของประเทศศรีลังกา และมีมติเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมสมัชชาครั้งนี้
เหตุผลที่สำคัญก็คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

    ในการพิจารณาประธานสมัชชาฯ ครั้งนั้นได้เชิญผู้แทนจากประเทศศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย พม่า สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน เนปาล ปากีสถาน อินเดีย สเปนขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความได้ว่า "วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ " ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติอีกด้วย
การเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาโลก
วิสาข บูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะหรือเดือน 6 เนื่องในโอกาสคล้ายวันพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

   ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทได้ประกอบพิธีฉลองวิสาขบูชาเป็นการใหญ่มานานแล้ว โดยเฉพาะประเทศไทย เริ่มฉลองวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแบบอย่างมาจากศรีลังกา

     คัมภีร์มหาวงศ์บันทึกไว้ว่าเมื่อประมาณ 2,100 ปีมาแล้ว ในรัชสมัยของพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งลังกา มีการประกอบพิธีวิสาขบูชาถึง 24 ครั้ง (มหาเวสาขปูชา จ จตุวีสติ การยิ)

         วิสาขบูชาฉลองกันในประเทศฝ่ายเถรวาท เป็นส่วนมาก สิ่งที่ชาวไทยเรียกว่า วิสาขบูชานั้น ชาวศรีลังกาเรียกว่า เวสัก (Vesak) ชาวพุทธอินโดเนเซียเรียกว่า ไวศาขะ ชาวพุทธอินเดียเรียกว่า พุทธชยันตี (วันประสูติของพระพุทธเจ้า) ชาวพุทธเนปาล เรียกว่า พุทธปุรณมี (วันเพ็ญพระพุทธเจ้า)

         ชาวพุทธฝ่ายมหายานในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ไม่จัดฉลองวิสาขบูชาตามแบบเถรวาทที่ถือว่าพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนหกทางจันทรคติ ทั้งนี้เพราะชาวพุทธฝ่ายมหายานถือคติเรื่องวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานต่างจากคติฝ่ายเถรวาท นั่นคือ ชาวพุทธฝ่ายมหายานถือคติว่า พระศากยมุนีพุทธเจ้า ประสูติในวันที่ 8 เมษายน ตรัสรู้ในวันที่ 8 ธันวาคม และปรินิพพานในวันที่ 15 กุมภาพันธ์

     จนกระทั่งถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติพิจาณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในศาสนาที่ เก่าแก่ที่สุดในโลก มีคุณูปการอันใหญ่หลวงในทางจิตใจต่อมวลมนุษยชาติ ตลอดระยะเวลากว่า 2,500 ปี และจะยังคงมีคุณูปการต่อไปในอนาคต จึงมีมติรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล ซึ่งสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์กและที่ทำการสาขาสหประชาชาติใน ภูมิภาคต่างๆทั่วโลก จะจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชาตามความเหมาะสม

   ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติกำหนดให้จัดพิธีฉลองวิสาขบูชา ในวันเพ็ญเดือนพฤษภาคมของทุกปี

     ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาจำนวน 16 ประเทศได้ร่วมกันจัดกิจกรรมฉลองวันวิสาขบูชา ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยแต่ละประเทศผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้ประสานงาน ประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นประเทศประสานงานเพื่อจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชา ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2547 (พระธรรมโกศาจารย์ :2549)
 
     การที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดวันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน 6 จึงเป็นการกำหนดตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาท และในภาษาของสหประชาชาติจึงไม่เรียกวันเพ็ญกลางเดือน 6 เพราะเดือน 6 เป็นจันทรคติ สหประชาชาติ ใช้คำว่า วันเพ็ญเดือนพฤษภาคม ดังนั้น ถ้าวันเพ็ญกลางเดือนตรงกับวันใดในเดือนพฤษภาคม สหประชาชาติถือว่าวันนั้นเป็นวันวิสาขบูชา

 

 
ติดต่อแฮนด์84000