วัดไทยพุทธคยา935
สักครังหนึ่งในชีวิตของชาวพุทธ
รำลึกท่านอนาคาริกะ ธรรมปาละ"
ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala) 
ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala)  ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala)  ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala) 
  ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala) 
ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2407  มรณภาพเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2476  เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย   เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียและเป็นผู้เรียกร้องเอาพุทธสถานในอินเดียกลับคืนมาเป็นของชาวพุทธ  ท่านเกิดในครอบครัวผู้มั่งคั่ง บิดาชื่อว่า เดวิด เหววิตรเน เมื่อได้อ่านหนังสือเรื่อง  ประทีปแห่งเอเชียของท่านเซอร์ เอ็ดวิล อาร์โนล ก็เกิดความซาบซึ้ง มีความคิดอยาก อุทิศชีวิตถวายต่อพระพุทธองค์ในการฟื้นฟูพุทธศาสนาที่อินเดีย จึงออกเดินทางสู่
อินเดีย เมื่อได้เห็นเจดีย์พุทธคยาที่ชำรุดทรุดโทรมถูกทอดทิ้ง และอยู่ในความครอบครองของพวกมหันต์ จึงเกิดความสังเวชใจ ที่ได้พบเห็นเช่นนั้น จึงทำการอธิษฐานต่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ว่า จะถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา ในอินเดียและนำพุทธคยากลับคืนมาเป็นสมบัติของชาวพุทธทั่วโลกให้ได้ จากนั้นจึงเดินทางกลับลังกาและก่อตั้ง สมาคมมหาโพธิ์ ขึ้นที่โคลัมโบ  ประเทศอินเดีย    สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานในรูปของสมาคม เรียกกันว่ามหาโพธิสมาคม” โดยมีผู้บริหารเป็นทั้งฮินดูและพุทธ การก่อกำเนิดของมหาโพธิสมาคมนั้น ต้องย้อนกลับไปรำลึกถึงบุคคลผู้มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูให้พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ากลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งนั่นคืออนาคาริกธรรมปาละ 

  ในช่วงปีพุทธศักราช 2400 ชาวอินเดียเจ้าของประเทศอันเป็นถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา ยังคงสับสนทางความคิดเพราะอิทธิพลของฮินดูครอบงำคนอินเดียมายาวนานหลายร้อยปี พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในชมพูทวีปเป็นช่วงระยะเวลาติดต่อกัน 1,700 ปี และหายไปเป็นช่วงเวลาถึง 700 ปีไม่เหมือนกับฮินดูที่คงอยู่คู่กับชาวอินเดียมาเป็นเวลานาน แม้จะเสื่อมไปก็เป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในวิถีชีวิตของคนอินเดียยังคงเป็นฮินดูอยู่นั่นเอง เหมือนในอดีตแม้พระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้น แต่ก็อยู่ภายใต้ร่มเงาของฮินดู จนมีนักปราชญ์อินเดียบางท่านถึงกับกล่าวว่า “พระพุทธศาสนาคือฮินดูนิกายหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็คืออวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์นั่นเอง”    
 การสรุปเช่นนั้นเป็นการสรุปที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งเหมือนที่ครั้งหนึ่งในประเทศไทยที่เคยมีนักวิชาการท่านหนึ่งสรุปในงานวิจัยว่า “พระพุทธเจ้าคือปกาศกของพระผู้เป็นเจ้า” ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ปฏิเสธพระเจ้าจัดอยู่ในกลุ่มนาสติกะ คือศาสนาที่ไม่ยอมรับว่ามีพระผู้เป็นเจ้าในปรัชญาอินเดีย  อย่างนี้แล้วพระพุทธเจ้าจะกลายเป็นอวตารของพระนารายณ์และปกาศกของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร
                
ในยุคของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในยุคใหม่นั้น มีการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง  และได้พบชิ้นส่วนและซากปรักหักพังที่สำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนาเรื่อยมา จนกระทั่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่เป็นระบบเริ่มต้นขึ้นเมื่อท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พุทธศาสนิกหนุ่มชาวสิงหล ได้อ่านบทความที่เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ เขียนไว้เกี่ยวกับการที่พุทธสถานที่สารนารถถูกปล่อยปะละเลย ในหนังสือพิมพ์ เทเลกราฟ 
               
อนาคาริกธรรมปาละจึงตัดสินใจเดินทางไปที่สารนารถและพุทธคยาในเดือนมกราคม 2434 เพื่อให้เห็นด้วยตาตนเอง พลันที่อนาคาริกมาถึงพุทธคยาทำให้เขาต้องตกตะลึงที่เห็นสภาพสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าถูกยึดครองและอยู่ในกรรมสิทธิ์ของฮินดูนิกายมหันต์ รูปเคารพ และสิ่งที่เป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนาถูกฮินดูทำลาย และจัดการตามใจชอบโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ควรหรือไม่ควรอนาคาริกธรรมปาละจึงตัดสินใจที่จะเรียกร้องกรรมสิทธิ์พุทธคยาคืนมาจากฮินดู ในการดำเนินการนี้ท่านต้องเดินทางเพื่อแสวงหาความร่วมมือจากพระภิกษุจากหลายประเทศเช่นลังกา พม่า ไทย และญี่ปุ่น ในที่สุดก็สามารถก่อตั้งมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2434 ได้นิมนต์พระสงฆ์จากศรีลังกา 4 รูปจำพรรษาที่พุทธคยาอีกด้วย วันที่ 31 ตุลาคม 2434 อนาคาริกธรรมปาละยังได้ดำเนินการเพื่อจัดประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติขึ้น โดยมีตัวแทนจากศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น และเบงกอล เข้าร่วมประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นที่อินเดีย ดินแดนอันเป็นถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา ในปีเดียวกันนั่นเอง(2434) พระกฤษปาสรัน มหาสถวีระ ภิกษุชาวเบงกอล ได้ก่อตั้งพุทธสมาคมขึ้นที่เบงกอล ในปีนั้นยังค้นพบโกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าในรัฐอันตรประเทศ โดยนายเรีย แอต ปัตติโปรลู                                                      
               
นอกจากนั้นพระมหาวีระพระภิกษุรูปแรกชาวอินเดียที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุในยุคแห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาได้สร้างวัดขึ้นที่กุสินารา(ปัจจุบันเรียกชื่อเป็นกุสินาคาร์) สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นยังเป็นป่ารกชัฏ ประชาชนไม่กล้าเข้าไป เพราะเกรงกลัวต่ออันตราย แต่เมื่อพระมหาวีระสร้างวัดขึ้น ประชาชนจึงได้เดินทางเข้าไปยังกุสินาการ์เพื่อสักการะบูชาและระลึกถึงสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
                
ในปี พ.ศ. 2435 มหาโพธิสมาคมได้ย้ายที่ทำการไปที่เมืองกัลกัตตา อนาคาริกธรรมปาละได้ออกวารสารมหาโพธิ เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของมหาโพธิสมาคมและเผยแพร่คำสอนของพระพุทธศาสนาไปทั่วโลก ในปีเดียวกันนั่นเองนักวิชาการชาวอินเดียจึงจึงได้ก่อตั้งสมาคมปาลีปกรณ์ขึ้นที่เมืองกัลกัตตา เพื่อจัดพิมพ์ตำราทางพระพุทธศาสนาเป็นภาษาของชาวอินเดีย (อินเดียมีภาษาพูดประมาณ 1,625 ภาษา ใน 25 รัฐ ภาษาที่สำคัญ ๆ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 18 ภาษา มีภาษาฮินดีและอังกฤษเป็นภาษาราชการ ไม่มีศาสนาประจำชาติ มีประชากรประมาณ 900 ล้านคน ในปีพ.ศ.2539 (ปัจจุบัน 2551 เพิ่มจำนวนเป็น 1,200 ล้านคนแล้ว) ร้อยละ 80 นับถือศาสนาฮินดู ร้อยละ 10 นับถือศาสนาอิสลาม ที่เหลืออีกร้อยละ 10 นับถือศาสนาอื่นๆเช่นสิกข์,ไชนะ,ปาร์ชีและพระพุทธศาสนา (อรุณ เฉตตีย์, อินเดียแผ่นดินมหัศจรรย์,โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2539 หน้า 12) ในการพิมพ์หนังสือเพื่อให้ชาวอินเดียอ่านจึงต้องพิมพ์เป็นหลายภาษาที่สำคัญๆคือภาษาฮินดี ภาษาเบงกลี ภาษาพราหมี เป็นต้น โดยผู้ที่ร่วมก่อตั้งประกอบด้วย ราเชนทรา ลาล มิตรา,หราประสาท ศาสตรี,สรัตจันทราทัสและสาธิตจันทรา วิทยาภูสาน ปีพุทธศักราช 2436 ธรรมปาละได้เข้าร่วมประชุมในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา และได้พบสุภาพสตรีผู้เลื่อมใสพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งคือนางแมรี่ ฟอสเตอร์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาโดยบริจาคเงินให้สมาคมเป็นจำนวนมาก
                ในปี 2439 พูห์เลอร์ ได้พบเสาหินพระเจ้าอโศกที่ลุมพินี(รุมมินเดย์) พบถ้อยคำจารึกมีใจความว่า พระพุทธเจ้าศักยมุนีประสูติที่นี้สองปีต่อมา พ.ศ. 2441 ได้พบโกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสวนลุมพินีมีคำจารึกไว้ว่า โกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าแห่ง สกุลศากยะ
                วิหารแห่งแรกในอินเดียที่สร้างขึ้นในยุคแห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาสมัยใหม่อยู่ที่กุสินาการ์ (กุสินารา) สร้างในปี พ.ศ. 2445 โดยการนำของพระมหาวีระสวามี    นอกจากนั้นยังได้สร้างธัมมันกุรวิหารที่กัลกัตตา ซึ่งต่อมาได้ใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของพุทธสมาคมที่เบงกอล
                ส่วนวิหารแห่งแรกที่พุทธสมาคมสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2463 คือศรีธัมมราชิกวิหารที่เมืองกัลกัตตา โดยมีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าค้นพบที่ปัตติโปรลูในอันตรประเทศบรรจุไว้ด้วย และศรีธัมมราชิกวิหารนี้เป็นสำนักงานใหญ่ของพุทธสมาคม เพื่อดำเนินการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย  เป็นอันว่าช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่อนาคาริกธรรมปาละ เดินทางเข้ามาอินเดีย ได้เริ่มต้นปลุกกระตุ้นความสนใจของชาวอินเดียต่อพระพุทธศาสนา โดยใช้นโยบายป่าล้อมเมืองคือประกาศอุดมการณ์ในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาต่อนานาชาติ ทั้งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาและประเทศที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาแต่ให้ความสนใจในหลักปรัชญาของพระพุทธศาสนา จนในที่สุดชาวอินเดียเอง ก็เริ่มให้ความสนใจในการศึกษาหลักการของพระพุทธศาสนา โดยมีชาวอินเดียเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุหลายรูปที่มีบทบาทสำคัญคือพระมหาวีระสวามี,พระโพธินันทะ   พ.ศ.2457ทำการอุปสมบทบนเรือกลางแม่น้ำคงคา ใกล้เมือกัลกัตตา เพราะขณะนั้นอินเดียยังไม่มีการสมมุติสีมาอุโบสถขึ้นเลย มีพระภิกษุเข้าร่วมในพิธีอุปสมบทครั้งจากพม่า ศรีลังกา และจิตตะกอง (ปัจจุบันเป็นเมืองๆ หนึ่งในประเทศบังคลาเทศ) ท่านอนาคาริกธรรมปาละก็ได้เข้าร่วมในพิธีกรรมครั้งสำคัญนี้ด้วย
               
เมื่ออุปสมบทเสร็จ พระโพธินันทะ ได้เดินทางไปยังลัคเนาว์ได้ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งอินเดียขึ้น เพื่อดำเนินการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนมาสู่อินเดียอันเป็นถิ่นกำเนิดอีกครั้ง ที่ลัคเนาว์ได้มีชาวอินเดียเข้ามาอุปสมบทอีกเป็นจำนวนมาก ผลงานของพระโพธินันทะทำให้ชาวอินเดียส่วนหนึ่งได้หันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาอีกครั้ง พระมหาวีระและพระโพธินันทะพระภิกษุชาวอินเดียทั้ง 2 รูป นับว่ามีบทบาทสำคัญสำหรับการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เพราะความที่เป็นชาวอินเดีย ย่อมสามารถชักจูงชาวอินเดียได้ง่ายขึ้น เราไม่อาจจะยืนยันได้ว่าพระพุทธศาสนาที่ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งนี้จะเป็นพระพุทธศาสนานิกายอะไร แต่ที่เริ่มต้นขึ้นจริงๆโดยอนาคาริกธรรมปาละนั้น เป็นนิกายจากศรีลังกา และพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
                
สิ่งที่สูญหายไปเกือบ 700 ปี เมื่อหวนกลับมามีบทบาทอีกครั้งย่อมมีความแตกต่างจากอดีตเป็นธรรมดา ส่วนพระพุทธศาสนาที่เจริญนอกถิ่นอินเดีย ก็ได้ให้ความสนใจในอุบัติการณ์นี้ด้วย ประเทศไทยอยู่ในยุคสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพเป็นเมืองหลวง เมื่อปีพุทธศักราช 2325) อนาคาริกธรรมปาละเดินทางไปอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2434 และเริ่มดำเนินการเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่เป็นระบบภายใต้การดำเนินการในรูปของสมาคม ดังนั้นคำว่าพุทธสมาคม จึงเป็นวิธีดำเนินการที่สามารถนำมาใช้ได้ในยุคสมัยที่อินเดียไม่มีพระภิกษุเหลืออยู่เลย เพราะสมาคมเป็นการรวมตัวของคณะบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ได้แยกว่าเป็นพระภิกษุหรือฆราวาส                  
               
จากวันที่โพธิสมาคมก่อตั้งมาจนถึงวันนี้เป็นเวลา 115 ปีแล้ว ภายใต้การริเริ่มของท่านอนาคาริกธรรมปาละ พระพุทธศาสนาที่ถูกลืมก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
               
ต้องขอบคุณท่านอนาคาริกธรรมปาละอย่างยิ่งที่เสียสละชีวิตทั้งชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ทำตัวเหมือนพระภิกษุ (ตำราบางเล่มบอกว่าท่านอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2474 ) 2 ปีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในปี 2476 ปล่อยภาระหน้าที่ที่ยังต้องดำเนินการต่อไปให้ภิกษุในยุคต่อมาดำเนินการอุดมการณ์ของอนาคาริกธรรมปาละ จึงเป็นการจุดประกายแห่งการตื่นตัวของชาวพุทธ เพราะเมื่อมหาโพธิสมาคมเริ่มก่อตั้งขึ้น ก็ได้มีสมาคมและพุทธวิหารเกิดขึ้นในหลายส่วนของประเทศเช่นมหาโพธิสมาคมที่เมืองเดลี เมืองหลวงของอินเดีย(2482),เทวสังฆปาณีวิหาร ที่เมืองอัสสัม(2482),พุทธวิหารที่เมืองบังกาลอร์ (2483),เวฬุวันวิหาร อการตาลา (2489),มัทราสวิหาร (2490),พุทธสมาคมแห่งลาดัก (2480)พุทธสมาคมแห่งอัสสัม (2482),พุทธสมาคมแห่งหิมาลัย (2485)
               
พุทธสมาคมเหล่านี้บริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการ แม้แต่มาหาโพธิสมาคมก็มีคณะกรรมการที่เป็นชาวพุทธและฮินดูคนละครึ่ง บางครั้งการลงมติที่ต้องอาศัยเสียงส่วนมากจึงมักจะมีปัญหา หากการดำเนินการนั้นไปกระทบกับความเชื่อของชาวฮินดูเข้า
                
จากยุคแห่งการขุดค้นสถูปวิหารเจดีย์ของชาวตะวันตกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2293 เป็นต้นมา จนถึงยุคแห่งการก่อตั้งพุทธสมาคมและการสร้างวิหารเริ่มต้นในปี พ.ศ.2434 พระพุทธศาสนาที่ถูกลืมเลือนไปเป็นเวลายาวนานเกือบ 700 ปี ก็ได้กลับฟื้นคืนมายังมาตุภูมิอีกครั้ง โดยแรงผลักดันของท่านอนาคาริกธรรมปาละ ชาวศรีลังกา และเป็นที่น่าปีติอย่างยิ่งคือได้มีชาวอินเดียอุปสมบทเป็นพระภิกษุมากขึ้น และมีการสร้างวัด อาราม และวิหารเกือบทั่วประเทศอินเดีย  ต้นโพธิ์อันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เมื่อพุทธศาสนิกท่านใดได้ไปสักการบูชาก็มีความรู้สึกเหมือนหนึ่งกำลังเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร์ แต่เพราะผลประโยชน์ ต้นโพธิ์ถูกลิดรอนกิ่ง นำใบมาขายให้กับพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธา การค้าขายกับศรัทธานั้นเป็นสิ่งที่ทำกันมานาน ถ้าตราบใดที่ชาวพุทธยังมัวสนใจเพียง "ใบโพธิ์" มากกว่า "โพธิ" คือการรู้แจ้งแล้ว คงอีกไม่นานต้นโพธิ์ก็คงเหลือแต่ต้นยืนตายอย่างน่าเสียดาย

 

                     

 

 
ติดต่อแฮนด์84000